ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


ฝรั่งรู้จักกับการ “สัก” เป็นครั้งแรกในช่วงที่กัปตัน “เจมส์ คุก”(เกิดราว ปี ค.ศ.1728 ที่หมู่บ้านยอร์ค ในประเทศอังกฤษ) ออกเดินเรือสำรวจทะเลใต้เมื่อหลายร้อยปีก่อนและพบเข้ากับผืนแผ่นดินทางตอนใต้เข้า(ประเทศนิวซีแลนด์ในยุคปัจุบัน)  ชาวเกาะทะเลใต้นั้นนิยมการสักกันมากและเรียกมันว่า “ทาทาอู”  กัปตันเจมส์ คุก ได้สักผิวตามร่างกายไปอวดชาวลอนดอน ประเทศอังกฤษด้วยแต่มีการเข้าใจกันว่าการสักนั้นเรียกกันว่า “แท็ตทู” (tattoo) ฝรั่งจึงเรียกรอยสักหรือการสักตามร่างกายว่า “แท็ตทู” ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนมาดังปัจจุบัน  เข้ามาในประเทศไทยเราบ้าง การสักในระยะแรกๆนั้นคาดเดาเอาว่าน่าที่จะเป็นการสักเพื่อการทหารเสียมากโดยเฉพาะการสักที่เรียกกันว่า “สักเลขลูกหมู่” ในสมัยรัชกาลที่ 4  ส่วนการสักยันต์นั้นเชื่อกันว่าเริ่มเป็นที่นิยมหลังจากนั้นได้ไม่นาน โดยเชื่อกันว่า “ยันต์” ที่สักนั้นกันนั้นมีความหมายถึง “องค์พระพุทธเจ้า” ดังนี้คือ
1.ยันต์รูปกลม  หมายถึง  พระพักตร์ของพระพุทธเจ้า
2.ยันต์รูปสามเหลี่ยม  หมายถึง  พระรัตนตรัย
3.ยันต์รูปสี่เหลี่ยม  หมายถึง  ดิน น้ำ ลม ไฟ
4.ยันต์รูปตัวเลข  หมายถึง  คาถาคุ้มกันร่างกาย เช่น ยันต์เลข 9 เป็นต้น
5.ยันต์รูปภาพ  อาจจะเป็นรูปเทพ รูปมาร รูปยักษ์ รูปสัตว์ในหิมพานต์ รูปสัตว์สามัญ ก็ล้วนมีความหมายตามความเชื่อนั้นๆ อาทิ การสักต์รูปยักษ์เพื่อต้องการให้ตนนั้นมีพลังอำนาจเป็นเช่นพญายักษ์อันเป็นที่น่าเกรงขาม เป็นต้น
ส่วนความเชื่อในเรื่องของการสักยันต์นี่ก็ต้องมีพิธีรีตองกันมากหน่อยโดยเชื่อกันว่าถ้าต้องการจะให้ “ยันต์” ที่ทำการสักนั้น “ขลัง” มากๆแล้วล่ะก็ต้องไปสักกันในพระอุโบสถที่เป็นแบบ “มหาอุค” เท่านั้น ซึ่งพระอุโบสถในแบบมหาอุด ก็คือ พระอุโบสถที่มีประตูทางเข้า เพียงด้านเดียวผนังทั้งหมดจะทึบตัน  กล่าวกันว่าเหตุที่พระอุโบสถแบบมหาอุดมีขนาดเล็กนี่ก็เพื่อใช้เป็นที่ในการประกอบพิธีปลุกเสกลงเครื่องรางของขลังต่างๆเป็นการเฉพาะ ซึ่งรวมถึงการสักยันต์ด้วย ดังมีความเชื่อว่าถ้าทำพิธีในพระอุโบสถแบบมหาอุดแล้วเครื่องรางของขลังต่างๆนั้นจะมีพุทธคุณสูงและมีความขลังมาก ในภาคใต้ของประเทศไทยเรานั้นการสักยันต์ถือเป็นที่นิยมแพร่หลายไม่แพ้ภาคอื่นๆ หนึ่งในนั้นก็คือ “วัดเขาอ้อ”  หรือวัดเขาอ้อ  ตำบลมะกอกเหนือ  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  ซึ่ง ณ ที่วัดแห่งนี้เองที่มีอาณาบริเวณของทางวัดตั้งอยู่บนเขาอ้อ และมีชื่อเสียงสุดๆในด้านของวิชาอาคมคงกระพันชาตรีสารพัด  นอกจากนี้วัดเขาอ้อยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิชาทางไสยศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากอีกด้วย
ความเชื่อในเรื่องของการสักยันต์นั้นมีมาช้านานคู่กับชนชาติไทยแต่ครั้งบรรพกาล บ้างก็เชื่อกันว่า “สักยันต์” แล้วทำให้ฟันแทงไม่เข้า มีเสน่ห์เมตตามหานิยม มีกำลังใจดี เป็นต้น ก็ว่าๆกันไปแล้วแต่ความเชื่อของในแต่ละบุคคล  เรื่องความเชื่อนี่เราไม่สามารถที่จะไปห้ามกันได้ ผมเชื่อ  คุณไม่เชื่อ  ฉันเชื่อเล็กน้อยไม่เชื่อมาก  คุณเธอเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  ดิฉันไม่เชื่อแต่ก็ไม่ลบหลู่ เป็นต้น  อนึ่งผู้เขียนเคยไปนั่งสนทนากับชายผู้หนึ่งในโรงพยาบาล ซึ่งเขา(ชายคนดังกล่าว)เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่เคยเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคมมาจากสำนักดังๆหลายสำนักในภาคใต้  โดยเฉพาะในเรื่องของการสักยันต์นี่มีแทบทุกแขนงในร่างกาย(ชายคนนี้มีรอยสักยันต์เต็มตัว)  นั่งฟังชายคนดังกล่าวเล่าอ้างอวดถึงสรรคุณในคาถาอาคมและยันต์ตามร่างกายอยู่นานว่าฟันแทงไม่เข้า ของแท้แน่นอน   เอ้อ.............ผมชักสงสัยแล้วสิครับว่ายันต์ของคุณพี่นี่ “ขลัง” จริงแล้วคุณพี่ท่านมานอนซมเข้าเฝือกตั้งหลายแห่งในโรงพยาบาลนี่ด้วยเหตุอันใด?  ชายคนดังกล่าวก้มหน้าและนิ่งเงียบลงไปเสียครู่หนึ่งแล้วจึงเงยหน้าขึ้นมาทางผู้เขียน และพูดว่า “ยันต์น่ะศักดิ์สิทธิ์จริง  แต่ผมดันกินเหล้าเข้าไปมากเลยแหกโค้งลงข้างทางชนเข้ากับเสาไฟฟ้าหัก 2 ท่อน ที่รอดมาได้นี่เพราะยันต์ท่านศักดิ์สิทธิ์ช่วยไว้แท้ๆ”  เอ่อ...............ผมนิ่งเงียบไปชั่วครู่   ผมบอกแล้วไงครับว่า “ความเชื่อ” (belief) ก็คือความเชื่ออยู่วันยังค่ำความเชื่อนี่เราไม่สามารถที่จะไปห้ามกันได้ ผมเชื่อ  คุณไม่เชื่อ  ฉันเชื่อเล็กน้อยไม่เชื่อมาก  คุณเธอเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  ดิฉันไม่เชื่อแต่ก็ไม่ลบหลู่ แต่ที่ผมเชื่อแน่ๆก็คือถ้าชายคนนี้ยังไม่เลิกดื่มเหล้าแล้วขับรถล่ะก็ “ยันต์มหาอุด” ของวัดไหนก็ช่วยไม่ได้ 
ว่าแต่.................คุณเชื่อผมไหม?
อยากแชร์ต่อให้เพื่อนๆ:
Share on FB Tweet Share on G+ Submit to Digg