ระวัง!ใช้ยาไมเกรนผิด ชีวิตอาจจบ ”ยาไมเกรน”…ภัยที่ไม่ระวัง ใช้พร่ำเพรื่อแถมฟรี ‘มือเน่า’
การเสพข้อมูลบนโลกออนไลน์ หากไม่ระวังให้ดี ตกเป็นเหยื่ออย่างแน่นอน ทั้ง…เท็จพิสูจน์ไม่ได้-จริงครึ่งหนึ่ง-เท็จทั้งหมด เหมือนอย่างต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่เป็นคอโซเชียลฯคงเห็นรูปภาพและข้อความที่แชร์กัน ซึ่งต้องย้อนกลับมาคิดเลยว่า “ตัวเราเองเป็นแบบนั้นหรือไม่”
ใจความสำคัญของข้อมูลที่กำลังพูดถึงนี้ ระบุว่า “กินยาแก้ปวดไมเกรนเป็นเวลานานๆ มีผลข้างเคียงที่ต้องระวัง เพราะอาจถูกตัดแขน ขา และส่วนอื่นๆ เพราะฤทธิ์ของยาทำให้มือเน่าได้”
หลายคนจึงตั้งคำถามว่า เรื่องนี้เป็นไปได้จริงหรือไม่!?!“
มาไขคำตอบกับ “ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล” อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชน ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุ ภายใต้กรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง โดยอันตรายจากยาสูตรคาเฟอร์กอต ประกอบด้วย “เออร์กอต” และ “คาเฟอีน” เป็นยาชนิดหนึ่งใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน
“อันตรายมักเกิดขึ้นจากการใช้ยาเกินขนาด ติดต่อกันเป็นนาน ที่ต้องระวังคือ ยาแก้ปวดไมเกรนตัวนี้ มีฤทธิ์หดหลอดเลือด ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น แขนขาขาดเลือด จนต้องตัดทิ้ง หรือหลอดเลือดสมอง และหัวใจตีบ”
ข้อสงสัยถัดมา…ควรใช้ยาเมื่อไหร่?
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรนจริง แล้วจะรู้ว่าเป็นไมเกรนได้อย่างไร? ต้องสังเกตว่าเคยปวดศีรษะอย่างน้อย 5 ครั้ง ที่มีลักษณะต่อไปนี้ครบทุกข้อ โดยไม่มีสาเหตุจากโรคอื่น ถ้ามีอาการเพียง 1-4 ครั้ง ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นไมเกรน เพียงแต่สงสัยว่าเป็นไมเกรน
1.ปวดศีรษะครั้งละ 4-72 ชั่วโมง
2.มีอาการปวดอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้ คือ ปวดข้างเดียว (เด็กมักปวดสองข้าง) ปวดตุบ ๆ และปวดปานกลางถึงมาก
3.ขณะปวด มีอาการอย่างน้อย 1 ข้อต่อไปนี้คือ อาเจียน กลัวแสง หรือกลัวเสียง“
กินเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าใช้ยาเกินขนาด?
1.ต้องไม่เกิน 4 เม็ดใน 24 ชั่วโมง หากไม่หาย เว้น30 นาที กินยาซ้ำได้อีกครั้งละ 1 เม็ด แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง
2.ไม่กินยาซ้ำอีกภายใน 4 วัน เพื่อให้ร่างกายขับยาเดิมออกก่อน เช่น กินยาต้นเดือนวันที่ 1 กินยาซ้ำได้อีกครั้งต้องวันที่ 5 ไปแล้ว แล้วรอไปถึงวันที่ 9 จึงกินยาซ้ำได้อีกหนึ่งรอบ และไม่ควรกินยานี้เกินกว่า 2 รอบใน 1 เดือน
3.ผู้ที่ใช้ยานี้เกินกว่า 10 วันต่อเดือน มีความเสี่ยงที่จะปวดศีรษะมากขึ้นและบ่อยขึ้น“
„“กินยาในทันทีที่เริ่มปวด จะช่วยให้หายได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ไม่ต้องใช้ยาหลายเม็ด ปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับตนเอง อย่าถือตามขนาดยาของผู้อื่น น้ำหนักตัวน้อยให้ใช้ยาขนาดน้อยกว่าคนน้ำหนักตัวมาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดพิษจากยาได้ง่าย ระหว่างที่กินยาก็ให้สังเกตผลข้างเคียงไปด้วย”
แต่สิ่งที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา “มือเน่า-เท้าเน่า” แถมอาจจะไม่ต้องกลับมาเป็นโรคไมเกรนอีก คือ ต้องลดปัญหาต้นตอของไมเกรน โดยการใช้ยาป้องกันโรคไมเกรนตามคำสั่งแพทย์ แต่ไม่ได้หมายความว่า…ให้กินยาแก้ปวดไมเกรนป้องกันไว้ก่อน เพราะเป็นวิธีที่ผิด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการกินยาเรื้อรังไม่จบไม่สิ้น“
„จำให้ขึ้นใจเลยว่า ยาจำพวกนี้คือ “ยาต้านโรคซึมเศร้า-ยาแก้ไอ-ยาแก้ปวด-ยาดลดความดัน” จะไป “เสริมฤทธิ์” ยากลุ่มเออร์กอต จึงห้ามใช้เด็ดขาด! เพราะจะทำให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยากลุ่มต่อไปนี้ ยังเป็นยากลุ่มที่เสริมฤทธิ์ และทำให้เกิดพิษของเออร์กอต ซึ่งต้องระวังเป็นพิเศษได้แก่ “ยาปฏิชีวนะ” เป็นยาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “ยาต้านไวรัสเอชไอวีบางชนิด” ซึ่งขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยอย่างน้อย 23 ราย ที่ได้รับพิษจากยา บางคนใช้ยาเพียง 1 วันก็ได้รับพิษจากยาที่ชนกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และ “ยาต้านเชื้อราชนิดกิน”
“ต้องเข้าใจว่าไมเกรน เส้นเลือดจะขยายทำให้ปวด จึงต้องกินยายับยั้งเพื่อไม่ให้ขยาย พอกินยาเข้าไปเส้นเลือดปลายมือ ปลายเท้า หรือเส้นเลือดสมอง ซึ่งมีลักษณะเป็นฝอยเล็กๆ ก็จะถูกบีบและตีบลง จนเส้นเลือดหดตัว สุดท้ายเลือดไม่ไปเลี้ยง ก็เกิดการชา ช้ำเขียว และเน่าตายในที่สุด ตัดนิ้ว ตัดเท้า หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต”
จึงต้องห้ามใช้ยานี้ในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร เพราะเด็กจะได้รับฤทธิ์ของยาไปด้วย เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไต เบาหวาน ความดันสูง เพราะจะเกิดอันตรายได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นคนที่สูบบุหรี่ “สารนิโคตีน” จะทำให้เส้นเลือดแดงหดตัวอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามาเจอกับฤทธ์ยาก็ยิ่งไปกันใหญ่“
ขึ้นชื่อว่า “ยา” ไม่ว่าจะชนิดไหนก็ตาม เมื่อมี “คุณ” ก็ต้องมี “โทษ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ปัญหาของยาตัวนี้ทำให้หลอดเลือดหดตัว แล้วคนไข้ไปหายามากินเองจนเกินไป หรือไปกินร่วมกับยาอื่นที่มีผลข้างเคียงเหมือนกัน
ดังนั้น ถ้าใครเป็นไมเกรน ควรจะต้องกินยาตามที่หมอสั่งให้เท่านั้น
อย่าใช้พร่ำเพรื่อ เพราะผลร้ายที่อาจเกิดขึ้น…มันอาจจะน่ากลัวกว่าที่คุณคิด เพียงชั่วข้ามคืน!!!“